พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตําบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น
ความเป็นมาในการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ภายหลังจากการสรงน้ำศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ว่าในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ขอให้ทุกคนได้สามัคคีกัน อย่าให้เกิดความแตกแยกและขอให้ยึดมั่นในคำสอนของท่านไว้ให้มั่นคง ขอให้เก็บอัฐิของท่านพระอาจารย์ไว้แห่งเดียวกัน เครื่องอัฐบริขารของท่านอาจารย์ ถ้าสามารถเก็บรวมรักษาไว้เป็นที่เดียวกันก็จะดี
ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปปั้น พระอาจารย์ฝั้นมีขนาดเท่ารูปจริง ในท่านั่งห้อยเท้า และถือไม้เท้าไว้ในมือ มีตู้กระจกบรรจุอัฐิ และแสดงเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต รวมทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กําเนิดในสกุลสุวรรณรงค์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่ตําบลบ้านม่วงไข่ อําเภอ พรรณานิคม และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดโพนทอง จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทในพุทธ ศาสนาฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ความเป็นมาเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ในคืนวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ฝั้น ได้มรณภาพที่วัดป่าอุดมสมพร รวมอายุได้ 78 ปี และหลังจากพระราชทานเพลิงศพท่านเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นที่เรียบร้อยแล้วคณะศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสได้มีการประชุมปรึกษาจะสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นเครื่องระลึกถึงพระอาจารย์ฝั้น ผู้เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ โดยสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ตรงบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของท่าน
กุฏิหลวงปู่ฝั้น เป็นกุฏิไม้หลังเดิมที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษา ด้านล่างของกุฏิหลวงปู่ฝั้น มีรูปหล่อหลวงปู่ฝั้นประดิษฐานอยู่
ฝั่งตรงข้ามของวัดป่าอุดมสมพรจะตลาดชนบท รพช. ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อของฝาก
ภาพบรรยากาศ
การเดินทาง
ตามทางหลวงหมายเลข 22 (สกลนคร-อุดรธานี) และเลี้ยวขวาผ่านตัวอําเภอพรรณานิคมไปประมาณ 2 กิโลเมตร
เปิดวันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 18.00 น.