สะพานขอม
“สะพานขอม” บางท่านเรียก “สะพานหิน” พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองสกลนคร จากลักษณะที่เห็นเป็นสะพานก่อด้วยศิลาแลง กว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๖ เมตร เดิมมีความสูงจากพื้นล่างประมาณ ๒-๓ เมตร ด้านบนของตัวสะพานทำเป็นพื้นเรียบ ยกขอบศิลาแลงเป็นคันขึ้นมาทั้งสองข้าง ฐานสะพานก่อศิลาแลงเป็นช่อง ๑๑ ช่อง เพื่อรับน้ำหนักด้านบนและเป็นช่องให้น้ำไหลผ่านได้ แต่เดิมเชื่อว่า เป็นสะพานข้ามลำน้ำห้วยโมงที่ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปสู่หนองหานหลวง โดยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคันดินถนนโบราณ ที่เป็นเส้นทางสัญจรระหว่างชุมชนในเมืองกับนอกเมืองคือไปสู่ชุมชนบ้านนาเวง ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕ กิโลเมตร
โดยมีหลักฐานปรากฏเมื่อครั้งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง มหาดไทย พระองค์ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดรอีสาน รวม ๕๖ วัน โดยได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ต่าง ๆ ภาคที่ ๔ เกี่ยวกับเมืองสกลนครไว้ว่า “วันที่ ๑๕ มกราคม ขี่ม้าไปบ้านนาเวง ระยะทาง ๑๕ เส้น ไปตามถนนขอมสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ มีสะพานหินเปนสพานศิลาแลง ฝีมือขอมทำดีน่าดูอยู่แห่ง ๑ เปนของสมัยเดียวกันกับเทวสถาน ที่ตำบลนาเวงมีเทวสถานเรียกว่า “อรดีมายานารายณ์เจงเวง” ตั้งอยู่บนเนินซึ่งมีซุ้มไม้ร่มรื่นดี..”
คันดินถนนโบราณ ตลอดจนถึงลำห้วย ได้ถูกแปลงสภาพไปหมดแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นหน้าที่ดั้งเดิมของสะพานแห่งนี้ได้
แผนที่การเดินทาง
อยู่ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นโบราณสถานเล็อกๆ รินถนนสายนิตโย ถนนเส้นทางหลวง หมายเลข 22 ใกล้กิโลเมตรที่ 161 เส้นสกลนคร-อุดรธานี